แนวคิด
หลักสูตรพัฒนานิสิต (นอกชั้นเรียน) จัดทำขึ้นเพื่อให้นิสิตที่เข้าศึกษาตั้งแต่ ปีการศึกษา
2552 เป็นต้นไป เข้าร่วมกิจกรรมแล้วเกิดการเรียนรู้ และได้รับประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์
ตลอดระยะเวลาการศึกษาในมหาวิทยาลัยทักษิณ ประกอบด้วยหน่วยการเรียนรู้ จำนวน 5 หน่วยการเรียนรู้
ดังนี้
หลักสูตรพัฒนานิสิต (นอกชั้นเรียน ) ระยะที่ 2 ปีการศึกษา 2556 เป็นต้นไป ฝ่ายกิจการนิสิต
มีนโยบายในการพัฒนารูปแบบโครงสร้างกิจกรรมของหลักสูตรพัฒนานิสิต (นอกชั้นเรียน) ให้สอดรับกับการพัฒนาทางการศึกษาและการพัฒนาอย่างรอบด้านของประเทศ
อีกทั้งเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินกิจกรรมของนิสิต โดยได้กำหนดให้มีโครงสร้างกิจกรรมฯ
ระยะที่ 2 ที่เปิดโอกาสให้บูรณาการกิจกรรมต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยเข้ากับชั่วโมงกิจกรรมของหลักสูตรพัฒนานิสิต
(นอกชั้นเรียน) จำนวน 30 ชั่วโมง
- หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 : พัฒนาทักษะชีวิต
- หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 : จิตสำนึกทางปัญญา
- หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 : ทักษิณศึกษา
- หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 : พัฒนาคุณธรรมและวินัย
- หน่วยการเรียนรู้ที่ 5 : ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต
หลักการจัดกิจกรรมนิสิต มุ่งเน้นการพัฒนานิสิตในแต่ละระดับชั้น
จากทุกหน่วยการเรียนรู้ที่ประกอบด้วยกิจกรรมอันนำไปสู่เป้าหมายของแต่ละหน่วยการเรียนรู้
ดังนี้
กิจกรรมสำหรับนิสิตชั้นปีที่ 1 มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถในการปรับตัว
และการบริหารจัดการและรับผิดชอบต่อตนเองในช่วงรอยต่อของการศึกษา มุ่งปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย
ได้แก่ การมีสัมมาคารวะ การมีวินัยในตนเอง การหลีกหนีอบายมุขทั้งปวง
กิจกรรมสำหรับนิสิตชั้นปีที่ 2 มุ่งเน้นการคิดอย่างเป็นระบบ คิดวิเคราะห์
คิดสร้างสรรค์ และส่งเสริมการเปิดโลกทัศน์ที่กว้างไกลสู่ประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก
เพื่อการยอมรับ ปรับตัวเข้ากับสังคมพหุวัฒนธรรม จากประสบการณ์เชิงปฏิบัติ ภายใต้คุณธรรม
จริยธรรมที่ดี ได้อย่างเหมาะสม
กิจกรรมสำหรับนิสิตชั้นปีที่ 3 มุ่งเน้นการเสริมสร้างให้เกิดความรอบรู้
โดยการพัฒนาศักยภาพแห่งตนในด้านภาวะผู้นำ ความเสียสละเพื่อส่วนรวม ความสามัคคี และส่งเสริมให้มีทักษะใฝ่เรียนรู้
และวิสัยทัศน์บนเส้นทางวิชาชีพของตนเอง
กิจกรรมสำหรับนิสิตชั้นปีที่ 4 มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมสู่การประกอบอาชีพ
ให้เกิดการสู้งานด้วยประสบการณ์วิชาชีพ การสร้างสำนึกความเป็นบัณฑิต และส่งเสริมให้นิสิตมีอุดมการณ์ชีวิต
เพื่อเตรียมตัวสู่การเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม
โดยทุกหน่วยการเรียนรู้จะประกอบด้วยกิจกรรมอันนำไปสู่เป้าหมายของแต่ละหน่วยการเรียนรู้
สามารถปรับเปลี่ยนและพัฒนากิจกรรมได้ ตามความสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน
การจัดหลักสูตรดังกล่าว
เป็นลักษณะการฝึกอบรม ผสมผสานการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง โดยใช้กิจกรรมเป็นฐานในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้
และมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ดังนี้
- มีการประเมินความต้องการ (Needs Assessment) ของนิสิต คณาจารย์ บุคลากร
และผู้เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการสร้างหลักสูตรฯ
- มีการกำหนดเป้าหมาย คือ เพื่อพัฒนานิสิตให้มีคุณภาพและมีศักยภาพรอบด้านเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคม
และความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างมีความสุข
- มีการศึกษาเอกสาร ตำรา บทความ แนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานิสิต
หลักการและรูปแบบการจัดกิจกรรมพัฒนานิสิต จิตวิทยาการศึกษา จิตวิทยาวัยรุ่น จิตวิทยาการเรียนรู้
เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสร้างหลักสูตรฯ และกำหนดรูปแบบกิจกรรม
- มีการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานและความต้องการ ดังนี้
- ปรัชญา ปณิธาน และ พันธกิจ ของมหาวิทยาลัย
ปรัชญา ปัญญา จริยธรรม นำการพัฒนา คุณลักษณะบัณฑิตมหาวิทยาลัยทักษิณที่พึงประสงค์ตามปณิธาน
ของมหาวิทยาลัย คือ มีความรับผิดชอบ รอบรู้ สู้งาน มีประสบการณ์เชิงปฏิบัติ
พันธกิจ ผลิตบัณฑิต ให้มีความรู้ สู้งาน มีคุณธรรม จริยธรรม มีทักษะ
เพื่อ พัฒนาคุณภาพชีวิตตนเอง สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อสืบสานดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของท้องถิ่นและของชาติ
- มาตรฐานผลการเรียนรู้ของนิสิตตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา ของประเทศไทย
(Thai Qualifications Framework for Higher Education : TQF :HEd) 5 ด้าน คือ
- ด้านคุณธรรม จริยธรรม (Ethics and Moral) ได้แก่ การพัฒนานิสัยในการประพฤติอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม
และด้วยความรับผิดชอบทั้งในส่วนตนและส่วนรวม ความสามารถในการปรับวิถีชีวิตในความขัดแย้งทางค่านิยม
การพัฒนานิสัย และการปฏิบัติตนตามศีลธรรม ทั้งในเรื่องส่วนตัวและสังคม
- ด้านความรู้ (Knowledge) ได้แก่ ความสามารถในการเข้าใจการนึกคิด และการนำเสนอข้อมูลการวิเคราะห์และจำแนกข้อเท็จจริงในหลักการ
ทฤษฎี ตลอดจนกระบวนการต่างๆ และสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้
- ด้านทักษะทางปัญญา (Cognitive Skills) ได้แก่ ความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์และใช้ความรู้
ความเข้าใจในแนวคิด หลักการ ทฤษฎี และกระบวนการต่าง ๆ ในการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ๆ
ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน
- ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ (Interpersonal Skills
and Responsibility) ได้แก่ ความสามารถในการทำงานเป็นกลุ่ม การแสดงถึงภาวะผู้นำ
ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ความสามารถในการวางแผน และรับผิดชอบในการเรียนรู้ของตนเอง
- ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยี สารสนเทศ (Numerical
Analysis, Communication and Information Technology Skills) ได้แก่ความสามารถในการวิเคราะห์เชิงตัวเลข
ความสามารถในการใช้เทคนิคทางคณิตศาสตร์และสถิติ ความสามารถในการสื่อสารทั้งการพูด การเขียน
และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
- นโยบายสถานศึกษา 3 ดี (3D) ของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่
- การส่งเสริมประชาธิปไตย (Democracy)
- การส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ความภาคภูมิในความเป็นไทย (Decency)
- การป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติด (Drug-Free)
- มาตรฐานการประกันคุณภาพภายใน (สกอ มกราคม 2551)
- องค์ประกอบที่ 3 กิจกรรมพัฒนานิสิตนักศึกษา
- องค์ประกอบที่ 9 ในตัวบ่งชี้ที่ 9.2 มีระบบและกลไกการให้ความรู้และทักษะด้านการประกันคุณภาพแก่นิสิตนักศึกษา
- การจัดกิจกรรม/การฝึกอบรม (Training activity) โดยคัดสรรรูปแบบ วิธีการ
และหลักการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัยของนิสิต มีการบูรณาการรูปแบบและกิจกรรมอย่างหลากหลาย
เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
- การประเมินผล (Evaluation) มีรูปแบบและเครื่องมือการประเมินที่หลากหลาย
และประเมินจากหลายฝ่าย ในระยะเวลาที่ต่างกัน ดังนี้
- การประเมินผลสะท้อนจากการจัดกิจกรรม/ฝึกอบรม (Reflection) ดำเนินการทันทีหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรม/การฝึกอบรม
เป็นการประเมินความรู้สึก ความคิดเห็น ทัศนคติซึ่งจะบอกให้ทราบได้ว่าผู้เข้าร่วมฝึกอบรม
หรือ เข้าร่วมกิจกรรมมีความคิดเห็นอย่างไรกับหลักสูตรที่จัดขึ้น ทั้งสาระการเรียนรู้
กิจกรรม วิทยากร วิธีการ ตลอดจนองค์ประกอบอื่น ๆ ในการฝึกอบรมหรือการเข้าร่วมกิจกรรมนั้น
ๆ
- การประเมินการเรียนรู้ (Learning) ดำเนินการทันทีเมื่อเสร็จสิ้นการฝึกอบรมหรือกิจกรรม
เพื่อวัดผลว่าผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการเข้าฝึกอบรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมนั้น
ๆ
- การประเมินพฤติกรรม (Behavior) เป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อันเป็นผลจากการฝึกอบรมหรือการเข้าร่วมกิจกรรม
ซึ่งอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงทางทักษะการแสดงออก การสร้างความสัมพันธ์ และอื่น ๆ เป็นการประเมินจากการนำผลการฝึกอบรมหรือการเข้าร่วมกิจกรรม
โดยใช้การสังเกตพฤติกรรม การสอบถามความคิดเห็นจากคณาจารย์ เพื่อนนิสิต หรือ การรายงานตนเอง
- การประเมินผลลัพธ์ (Result) เป็นการประเมินผลการฝึกอบรมหรือการจัดกิจกรรมว่าได้มีส่วนช่วยในการส่งเสริมและพัฒนานิสิตให้เกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานผลการเรียนรู้ ปรัชญา ปณิธาน พันธกิจ ของมหาวิทยาลัย และตัวบ่งชี้อื่นที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เพียงไร โดยอาศัยแบบวัด หรือ ข้อมูลจากการรายงานความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิตโดยเปรียบเทียบก่อนและหลังการฝึกอบรมหรือการเข้าร่วมกิจกรรม